วัดพระราม, อยุธยา
พาเที่ยววัดเก่าอยุธยา “วัดพระราม”
ข้อมูลการท่องเที่ยววัดพระราม
“วัดพระราม” ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ แต่อยู่นอกเขตประตูวังทางด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามวิหารพระมงคลบพิตร สถานที่แห่งนี้มีนักท่องเที่ยวค่อนข้างบางตา เนื่องจากผู้คนต่างให้ความสนใจกับสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงทั้งสองมากกว่า จึงทำให้บางช่วงเวลาคุณอาจเป็นนักท่องเที่ยวเพียงกลุ่มเดียว ที่กำลังเดินชมความงดงามของวัดเก่าแห่งนี้
พระปรางค์ประธาน
“วัดพระราม” มีพระปรางค์ประธานที่ตั้งสูงเด่นเป็นสง่า ซึ่งสามารถมองเห็นได้แต่ไกล ได้รับอิทธิพลทางด้านสถาปัตยกรรมมาจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) รูปแบบของพระปรางค์จึงเป็นศิลปะขอม ทรงฝักข้าวโพดขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐสอปูน (ปูนสอเป็นตัวเชื่อมอิฐหรือหิน) ซึ่งแต่ละมุมถูกประดับด้วยปูนปั้นรูปสัตว์หินมาพานต์ จากฐานด้านหน้าและหลังมีบันไดขึ้นสู่พระปรางค์ประธาน
ผนังภายในพระปรางค์ประธานทั้ง 2 ด้านมีภาพจริตกรรมปรากฎอยู่ เป็นรูปภาพของพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ในท่าปางมารวิชัย โดยสีที่ใช้ในการรังสรรค์ภาพดังกล่าวได้แก่ สีเหลือง สีแดง สีคราม และสีดำ ซึ่งเป็นผลงานทางด้านจิตรกรรมในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ปัจจุบันภาพดังกล่าวได้จางลงและเลือนหายไปตามกาลเวลา
วิหาร ระเบียงคตและปรางค์บริวาร
เมื่อก้าวผ่านซุ้มประตูที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระปรางค์ประธานเข้ามา ก็จะพบกับวิหารที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของพระปรางค์ประธาน ที่ตอนนี้เหลือเพียงแค่เศษซากปรักหักพังให้เราได้เห็นเท่านั้น ส่วนด้านหลังคือพระอุโบสถ ที่ยังคงหลงเหลือเสาภายในให้เราพอได้เห็นเค้าโครงเดิม ถัดออกมาคือระเบียงคตที่ล้อมรอบพระปรางค์ประธานเอาไว้ ทั้ง 4 ทิศมีพระปรางค์ประดับอยู่ นอกระเบียงคตคือวิหารทั้ง 7 ของวัดพระรามแห่งนี้
ประวัติตวามเป็นมาของวัดพระราม
“วัดพระราม” ถูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 1912 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) เสด็จสววรคต จึงได้มีการสันนิษฐานว่า วัดพระรามถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ และเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าอู่ทอง องค์ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะบริเวณนั้นมีบึงพระราม ซึ่งเป็นที่พำนักก่อนที่พระองค์จะสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยย้ายมาจากวัดพุทไธศวรรย์นอกเกาะอยุธยา
บึงพระราม
“บึงพระราม” เป็นหนึ่งในบึงน้ำขนาดใหญ่กลางเกาะพระนครศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า “หนองโสน” เป็นความชาญฉลาดในการจัดการน้ำของคนในสมัยนั้น ทั่วทั้งเกาะจะมีคลองคอยชักน้ำเข้าไปในบึงต่างๆ เพื่อใช้หล่อเลี้ยงผู้คน เมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็เป็นเส้นทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยการควบคุมการเปิด-ปิดประตูน้ำ ปัจจุบันบึงพระรามได้ถูกปรับปรุงให้กลายเป็นสวนสาธารณะ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวอยุธยา
และถ้าหากคุณกำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน คุณสามารถเข้าไปดู “แผนการท่องเที่ยวจังหวัดอยุธยา” กันก่อนได้ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่จะช่วยประหยัดเวลาให้กับคุณในการวางแผนการท่องเที่ยว และทำให้การเดินทางของคุณเป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น
เพราะข้อมูลที่จำเป็นต่อการเดินทางได้ถูกรวบรวมเอาไว้แล้วในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นแผนการเดินทาง พิกัด เวลาเปิด-ปิด ค่าเข้าชม ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว ทั้งคุณยังจะได้ทราบค่าใช้จ่ายโดยประมาณของทั้งทริปก่อนออกเดินทางกันอีกด้วย ไปกับเรา “Maiden Voyage, Thailand” กับ “การเดินทางครั้งใหม่” ที่กำลังรอเราอยู่