วัดพุทไธศวรรย์, อยุธยา
พาชมพระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์
ข้อมูลวัดพุทไธศวรรย์
“วัดพุทไธศวรรย์” ตั้งอยู่ที่ตำบลสำเภาล่มริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ที่เดินทางมาเข้าพักยังโรงแรมศาลาอยุธยา จะได้รับชมความงดงามของวัดแห่งนี้ในมุมมองที่พิเศษสุดไม่เหมือนใคร เพราะโรงแรมดังกล่าวตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาพลบค่ำ ที่ทางวัดจะเปิดไฟส่องสว่างไปยังพระปรางค์ประธาน เป็นภาพความงดงามที่ต้องได้เห็นกับตาตัวเองสักครั้ง
ข้อมูลการท่องเที่ยววัดพุทไธศวรรย์
เมื่อเดินทางมาถึงที่วัด เราสามารถจอดรถไว้ที่บริเวณลานด้านหน้า ซึ่งพื้นที่บางส่วนได้ถูกตั้งเป็นร้านขายของ ขนม น้ำดื่ม และดอกไม้ ธูป เทียน ที่ใช้ในการศักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดแห่งนี้ จากจุดนี้เราสามารถมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา และสัมผัสได้ถึงความเย็นของผืนน้ำ เมื่อสายลมได้พัดพาเอาความชื้นนั้นเดินทางมาสู่ตัวเรา
พระปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์
จุดเด่นของวัดแห่งนี้คือพระปรางค์ประธานที่ได้กล่าวถึงไปในข้างต้น ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะขอม ตั้งอยู่บนฐานไพรีมีบันได 2 ด้านคือทางฝั่งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ส่วนทิศเหนือและทิศใต้มีมณฑป ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานของวัด สีของพระปรางค์เป็นสีขาว ทำให้พระปรางค์ดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ประวัติความเป็นมาวัดพุทไธศวรรย์
สถานที่แห่งนี้แต่เดิมเป็นพลับพลาที่ประทับของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ก่อนที่จะย้ายไปตั้งที่บึงพระราม และสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หลังจากนั้นประมาณ 3 ปี ได้จัดให้มีการสร้างวัดพุทไธศวรรย์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงบนพื้นที่เดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการสถาปนากรุงศรีอยุธยา วัดนี้เป็นอีกหนึ่งในวัดที่ไม่ถูกเผาทำลายในช่วงเสียกรุง จึงยังคงหลงเหลือโบราณสถานให้เราได้ชมกันอยู่อีกมาก
ระเบียงรายและวิหารพระพุทธไสยาสน์
เช่นรอบพระปรางค์ทั้ง 4 ด้านคือ “ระเบียงราย” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปต่างๆ ที่มีสีเหลืองทองอร่ามดูงดงามจับตา ส่วนทางทิศเหนือของพระปรางค์ประธานเป็นที่ตั้งของเจดีย์ราย และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็น “วิหารพระพุทธไสยาสน์” ที่มีองค์พระนอนขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ภายใน ซึ่งเราสามารถเข้าไปกราบไหว้ศักการะขอพรเพื่อความเป็นศิริมงคลต่อตนเองและครอบครัวได้
หลวงพ่อดำ
นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระปรางค์ประธาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปูนปั้นสีดำปางมารวิชัย ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น และในอดีตสถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่ฝึกคาถาอาคมของสำนึกอาจารย์ชีปะขาว เมื่อก้าวเข้ามาภายในวัดจะสัมผัสได้ถึงมนต์ขลังที่อยู่คู่กับสถานที่แห่งนี้มาอย่างยาวนาน
และถ้าหากคุณกำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน คุณสามารถเข้าไปดู “แผนการท่องเที่ยวจังหวัดอยุธยา” กันก่อนได้ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่จะช่วยประหยัดเวลาให้กับคุณในการวางแผนการท่องเที่ยว และทำให้การเดินทางของคุณเป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น
เพราะข้อมูลที่จำเป็นต่อการเดินทางได้ถูกรวบรวมเอาไว้แล้วในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นแผนการเดินทาง พิกัด เวลาเปิด-ปิด ค่าเข้าชม ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว ทั้งคุณยังจะได้ทราบค่าใช้จ่ายโดยประมาณของทั้งทริปก่อนออกเดินทางกันอีกด้วย ไปกับเรา “Maiden Voyage, Thailand” กับ “การเดินทางครั้งใหม่” ที่กำลังรอเราอยู่