ตึกชิโนโปรตุกีส, ภูเก็ต
เดินชมตึกชิโนโปรตุกีสย่านเมืองเก่าภูเก็ต
ข้อมูลตึกเก่าชิโนโปรตุกีสภูเก็ต
จังหวัดภูเก็ตเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีประวัติความเป็นมามาอย่างยาวนาน และยังคงหลงเหลือตัวอาคารในยุคนั้นให้เราได้เห็นกันอยู่จนถึงปัจจุบันที่ “ย่านเมืองเก่า” ในตัวเมืองภูเก็ต รูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวอาคารเป็นแบบชิโนโปรตุกีส ซึ่งเป็นการผสมผสานรูปแบบอาคารของยุโรปและจีนเข้าด้วยกัน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากชาวจีนโพ้น ที่เดินทางเข้ามาค้าขายสินค้าที่เกาะภูเก็ตแห่งนี้ เมื่อในอดีตครั้งหนึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกอย่างโปรตุเกสและฮอลันดา ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน
บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์, ถนนดีบุก ภูเก็ต |
ย่านเมืองเก่าภูเก็ตบนถนนถลาง |
ลักษณะอาคารตึกเก่าชิโน-โปรตุกีส
ลักษณะเด่นของ “ตึกเก่าชิโนโปรตุกีส” คือตัวอาคารมีความกว้างน้อยกว่าความยาว ประกอบด้วยชั้น 1-2 ชั้น ประตู หน้าต่าง และกระเบื้องหลังคาถูกฉลุลาย เมื่อประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกันจึงเกิดเป็นตัวอาคารที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ปัจจุบันอาคารส่วนใหญ่ได้ถูกดัดแปลงเป็นร้านอาหาร ค่าเฟ่ และโรงแรมที่พักเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังคงรักษาตัวอาคารดั้งเดิมเอาไว้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมความงดงามของอาคารเหล่านี้ แต่ก็ยังมีอาคารอีกหลายหลังที่ถูกใช้เป็นที่พักอาศัยของคนภูเก็ตในท้องถิ่นจนถึงทุกวันนี้
ตึกชิโนโปรตุกีส, ถนนดีบุก ภูเก็ต |
ย่านเมืองเก่าภูเก็ตบนถนนถลาง |
เส้นทางเดินเที่ยวชมตึกเก่าภูเก็ต
และด้วยความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ของตึกเก่าเหล่านี้ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างพากันเดินทางมาเที่ยวชมกันเป็นจำนวนมาก ทางเทศบาลนครภูเก็ตจึงจัดให้มีเส้นทางเดินท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตขึ้น รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 4 กิโลเมตร แบ่งเป็นเส้นทางเดินย่อยทั้งหมด 6 เส้นทาง และบริเวณใกล้เคียงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆให้เราได้ไปเที่ยวชมกันอีกด้วย เช่น พิพิธภัณฑ์ภูเก็ต 3D พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ทั้งยังมีร้านอาหารรสชาติดั้งเดิม ให้เราได้แวะทานเติมพลังกันก่อนที่จะออกเดินเที่ยวชมย่านเมืองเก่ากันต่อเช่น ร้านหมี่ต้นโพธิ์ (สาขาวงเวียนหอนาฬิกา) และร้านโกเบ๊นซ์ข้าวต้มแห้ง
แผนที่เดินชมตึกชิโนโปรตุกีส ย่านเมืองเก่าภูเก็ต
เส้นทางชมเมืองเก่าภูเก็ตรวมระยะทางทั้งสิ้น 4.6 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 6 ช่วงและมีสถานที่สำคัญดังต่อไปนี้
ช่วงที่ 1 : ถนนภูเก็ต ถนนรัชฎา และถนนระนอง
- โรงแรมถาวร: พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น นิทรรศการภาพเก่าและโบราณวัตถุเมืองภูเก็ต
- วงเวียนสุริยเดช: ท่อฉีดน้ำเก่าจากยุคทำเหมืองแร่
- กลุ่มอาคารชิโนโปรตุกีส: อาคารลวดลายแบบ “อาร์ตเดโค (Art Deco)”
- คฤหาสน์พระอร่ามสาครเขต: ปัจจุบันเป็นที่ทำการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานเขตภูเก็ต
- ศาลเจ้าปุดจ้อ: มีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องการขอพรให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บและการมีบุตร
- ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย: สถานที่จัดงานประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต
ช่วงที่ 2 : ถนนกระบี่ และถนนสตูล
- บ้านหลวงอนุภาษภูเก็ตการ: เป็นเรือนหอของหลวงอนุภาษภูเก็ตการกับนางหลุ่ยฮุ่น
- พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว: เดิมเป็นโรงเรียนจีนแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ต
- คฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา: อาคาร 2 ชั้นมี 3 มุขด้านหน้าเป็นซุ้มโค้งปูนปั้น ประตูและหน้าต่างเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน
- บ้านชินประชา: เดิมเป็นเรือนหอของตระกูลตัณฑวณิช ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมความสวยงามภายในอาคารและเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ
ช่วงที่ 3 : ถนนดีบุก ถนนเยาวราช และตรอกสุนอุทิศ
- อาคารบ้านนายเหมือง: กลุ่มอาคารตึกแถวชิโนโปรตุกีสที่คงความสมบูรณ์ได้มากที่สุด
- บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์: อาคาร 2 ชั้นมีมุขด้านหน้า จุดเด่นคือลายปูนปั้นรูปทรงต่างๆเช่น หงส์ ค้างคาว เมฆ ใบไม้ และผลไม้อันเป็นสัญลักษณ์มงคลของจีน
ตึกชิโนโปรตุกีส, ถนนดีบุก ภูเก็ต |
ช่วงที่ 4 : ถนนถลาง และซอยรมณีย์
- พญามังกรทะเล: สัตว์มงคลที่ถูกสร้างขึ้นตามตำนานความเชื่อเรื่องเจ้าสมุทรทั้งสี่ ที่ช่วยปกปักษ์รักษาดูแลมหาสมุทรตามบัญชาสวรรค์
- อาคารสิริรัตน์: เป็นอาคารที่มีตุ๊กตาจีนปูนปั้นตั้งอยู่เหนือคานชั้น 2 ปัจจุบันเป็นร้านขายผ้า
- บ้านตระกลูถาวรว่องวงศ์: เป็นอาคารที่ไม่มีเสาเข็ม ก่อสร้างด้วยอิฐก้อนใหญ่ที่มีส่วนผสมของดินเหนียวและน้ำตาลแดง ขุดหลุมแล้ววางหินสลับกันไปมา
- ซอยรมณีย์: เป็นซอยที่ยังคงเอกลักษณ์ตึกเก่าเอาไว้ให้ย้อนนึกถึงอดีต
- อาคารไชน่าอินน์: เดิมเป็นสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
- ร้านขายยาหงวนชุนต๋อง: ร้านขายยาสมุนไพรที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต
ช่วงที่ 5 : ถนนพังงา
- ศาลเจ้าแสงธรรม: เป็นสถาปัตยกรรมแบบเก๋งจีน หลังคามีรูปปั้นมังกรและตุ๊กตาจีนประดับไว้ ที่ฝาผนังภายในศาลเจ้ามีรูปปั้นเรื่องราวของราชวงศ์ถัง “ซิยิ่นกุ้ย”
- โรงแรมออนออน: เป็นโรงแรมแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันยังเปิดให้บริการอยู่
- ธนาคารท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทย: ปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์วัฒนธรรมภูเก็ต
ช่วงที่ 6 : ถนนเทพกระษัตรี และถนนมนตรี
- คฤหาสน์ตระกูลหงษ์หยก: เป็นอาคารทรงยุโรปที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมจีน
- พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณีย์และโทรเลข: เป็นอาคารคอนกรีตสีขาวหนึ่งชั้น หลังคาทรงปั้นหยาเป็นกระเบื้องดินเผาทรงกระบอกผ่าซีก
ช่วงเวลาเดินเที่ยวชมตึกชิโนโปรตุกีสภูเก็ต
ภาพนายหลวง ร.9, ถนนดีบุก ภูเก็ต |
ซึ่งช่วงเช้าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับคนที่ไม่ชอบความจอแจ เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่เยอะมากนัก ทำให้หาที่จอดรถได้ง่ายและถ่ายรูปได้สะดวก ทั้งยังได้เห็นวิธีชีวิตยามเช้าของผู้คนในท้องถิ่น สำหรับคนที่ชื่นชอบลิ้มลองรสชาติอาหารใหม่ๆ ช่วงเย็นจะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเดินหาของกินอร่อยๆ เพราะร้านอาหารเริ่มทยอยเปิดให้บริการกันแล้ว ส่วนช่วงกลางวันนั้นอากาศค่อนข้างร้อน ถ้าไปเที่ยวในช่วงเวลานี้ก็อย่าลืมพกน้ำติดตัวกันไปด้วยนะคะ
ตึกชิโนโปรตุกีส, ถนนดีบุก ภูเก็ต |
และถ้าหากใครที่กำลังมองหาของฝากจากจังหวัดภูเก็ตกลับไปฝากคนที่บ้าน บนถนนสายนี้มีร้านค้าที่เปิดขายขนมท้องถิ่นอยู่หลายร้านให้เราได้เลือกกันอย่างจุใจ จนต้องตกใจว่าขนมประจำจังหวัดภูเก็ตมีเยอะขนาดนี้เลยหรอ จนเลือกไม่ถูกว่าจะซื้ออันไหนกลับบ้านดี ถ้าตัดสินใจไม่ได้ก็ซื้อไปให้หมดทุกอย่างเลยค่ะ เพราะรสชาติของขนมแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกัน และหาทานจากที่ไหนไม่ได้อย่างแน่นอน
อาคารพัสดุ, ถนนภูเก็ตย่านเมืองเก่า |
ร้านอาหารและคาเฟ่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต |
และถ้าหากคุณกำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดภูเก็ต แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน คุณสามารถเข้าไปดู “แผนการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต” กันก่อนได้ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่จะช่วยประหยัดเวลาให้กับคุณในการวางแผนการท่องเที่ยว และทำให้การเดินทางของคุณเป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น
ตึกชิโนโปรตุกีส, ถนนถลาง ภูเก็ต |
เพราะข้อมูลที่จำเป็นต่อการเดินทางได้ถูกรวบรวมเอาไว้แล้วในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นแผนการเดินทาง พิกัด เวลาเปิด-ปิด ค่าเข้าชม ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว ทั้งคุณยังจะได้ทราบค่าใช้จ่ายโดยประมาณของทั้งทริปก่อนออกเดินทางกันอีกด้วย ไปกับเรา “Maiden Voyage, Thailand” กับ “การเดินทางครั้งใหม่” ที่กำลังรอเราอยู่